วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศิลปกรรมสมัยใหม่กลุ่มลัทธิอิมเพรสชันนิสม์


ศิลปินแหกกฎกลุ่มนี้มีวิธีวาดภาพที่ไม่เหมือนก่อน ใช้กลวิธีป้ายสีที่ไม่เกลี่ย เพื่อให้สีเกิดการผสมกันในดวงตา สร้างความรู้สึกระยิบระยับแพรวพราวแทนความพยายามในการไกล่สีให้เรียบเนียน ให้คุณค่าของศิลปะที่ form มากกว่า content ประกาศตัวครั้งแรกในปี คศ.1874 
ลักษณะที่สำคัญคือ
1 การแสดงให้ผู้ชมงานศิลปะรับรู้ความรู้สึกประทับใจในครั้งแรกที่มอง
2 เน้นแสงและเงาเพื่อให้เกิดความประทับใจในครั้งแรกที่เห็นผลงาน
3 สี และผิวหน้าของภาพ texture มีความสำคัญมาก
4 เรื่องราวที่เห็นด้วยตามนุษย์มีความสำคัญก่วาการเพ้อฝัน
5 ธรรมชาติให้เพียงวัตถุดิบ มนุษย์เป็นผู้ปรุงแต่งให้รู้สึกประทับใจ
6 การตัดทอนรายละเอียดบางส่วนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ความเบื่อหน่ายของศิลปินต่อรูปแบบเดิมๆเป็นแรงผลักดันให้เกิดงานของกลุ่มนี้ มีศิลปินสำคัญ ดังนี้

อีดูวาร์ด มาเนต์ (1832-1883AD.)ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำกลุ่มลัทธินี้ 




โคลด โมเนต์ (1840-1926AD.) ศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมีบทบาทสูงต่อการยอมรับงานอิมเพรสชั่นนิสของสังคมในยุคนั้น โดยต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะได้รับการยอมรับ




เอ็ดการ์ เดกาส์ (1834-1917AD.)ชอบวาดภาพการเต้นรำ นางระบำ


 

ปิแอร์ ออกุส เรอนัวร์ (1841-1919AD.) เป็นผู้นิยมใช้สีสันสดใส ผลงานของเค้าเป็นที่นิยมมากๆแม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ 

 

โรแดง (1840-1917AD).นักประติมากรรมแนวอิมเพรสชั่นนิส เน้นส่วนที่ต้องการแสดงออก ปล่อยรอยต่อเหลือริ้วรอยของเทคนิคให้ปรากฏบนงานเสมอ เช่น the kiss คศ.1886-1898
 


ศิลปกรรมลัทธินีโออิมเพรสชันนิสม์ (Neo-impressionism)

เฟลิกซ์ เฟเนออง (1861-1944AD.) ได้ให้คำนิยามผลงานของเค้า เซอราท์กับซียัคได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ที่มุ่งมั่นแสดงออกด้วยรูปทรงอันเลือนราง เสมือนสรรพสิ่งและสรรพธาตุไร้ความหมาย และต้องการเปิดเผยให้เห็นคุณสมบัติของแสงและสีและแสดงพลังสั่นสะเทือนของแสงให้ปรากฎออกมาตามปรากฏการณ์แสงและสีทางวิทยาศาสตร์ของนิวตัน เรียกอีกอย่างว่า ลัทธิจุดสี p0intilism หรือ divisionism ศิลปินที่สำคัญ 


จอร์จปิแอร์ เซอราต์ (1850-1891AD.) ฝึกฝนตนเองจากการคัดลอกผลงานยุคเก่าๆผสมผสานกับการเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีแสงอาทิตย์อย่างละเอียดและจริงจัง มีภาพเขียนที่โด่งดังเป็นตัวแทนลัทธินี้คือ Sunday afternoon on the island of le grande jatte 

 


พอล เซยัค(1863-1935AD.)เป็นศิลปินฉลาดเฉลียวที่เผยแพร่ผลงานนีโออิมเพรสชั่นนิสม์สู่สาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย 

 
Paul Signac Un Dimanche 1888-1890


คามิลล์ ปีสซาโร (1830-1903AD.)เริ่มจากเขียนภาพอิมเพรสชั่นนิสต์จนเป็นแกนนำลัทธิดังกล่าว จนภายหลังค่อยมาเปลี่ยนแนวเป็นนีโอ อิมเพรสชั่นนิสม์ และมีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง






ศิลปะลัทธิโพสท์อิมเพรสชันนิสม์ Post-Impressionism 

.ศิลปินในกลุ่มนี้เริ่มในปีคศ.1880-1905มีการเคลื่อนไหวในฝรั่งเศสในเวลาใกล้เคียงกับนีโออิมเพรสชั่นนิสม์ ต่างจากกลุ่มอื่นตรงที่แต่ละคนทำงานแยกอิสระต่อกัน รวมกลุ่มกันหลวมๆ เน้นการแสดงออก รูปทรง สี ภายใต้การสำแดงอารมณ์ภายในส่วนตน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่แสดงออกด้านอารมณ์(emotional aspect) ได้แก่ แวนโกะและโกแกง กลุ่มที่แสดงออกเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางศิลปะ(structural aspect) ได้แก่ เซซานน์และเชอราท์ 


พอล เซซานน์ (1839-1906AD.) มีความเชื่อว่า ศิลปะไม่ใช่การจำลองแบบ แต่เป็นการนำเสนอของศิลปินที่มีต่อความเป็นจริงนั้น ใช้สีเป็นผู้กำหนดความตื้นลึกหรือระยะใกล้ไกลแทนการใช้ลายเส้น 




The Card Players by Paul Cézanne



วินเซนต์ แวนโกะ (1853-1890AD.)เป็นศิลปินที่อาภัพ มีอารมณ์รุนแรง ทำงานหลายอาชีพ เช่น ครู พระ ก่อนที่จะมาเป็นศิลปิน ใช้ชีวิตคู่กับโกแกง แต่ภายหลังไม่ลงรอยกันขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนทำให้แวนโกะจิตผิดปกติ และต่อมาอีกสองปี แวนโกะก็ปลิดชีพตัวเองด้วยปืนในที่สุด 


 
The Starry Night Van Goh 1889


พอล โกแกง (1848-1903AD.) มักวาดภาพ พิธีกรรม ชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ โดยเฉพาะชาวอินเดียนแดง 
 


ทูลูส โลเทรค (1864-1901AD.) ศิลปินร่างกายแคระแกรนไม่เติบโต เลือกหยิบเอาชีวิตตามสถานเริงรมย์แห่งมองมาร์ตเป็นเรื่องหลักในผลงาน


 
Henri de Toulouse-Lautrec - The Kiss – 1892


 

อันเนื่องมาจาก "MIXED MEDIA" 

เรียบเรียง สมพร รอดบุญ ลำดับที่ 50010
 
อันเนื่องมาจาก "MIXED MEDIA"
ปัจจุบันนี้ คำว่า "MIXED MEDIA" หรือสื่อประสม ได้นำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการศิลปร่วมสมัยของไทย ความจำเป็นในการทำความเข้าใจกับความหมายของศิลปะในแนวนี้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "MEDIA" ในแง่ของศิลปะซึ่งสามารถจำแนกได้เป็นสองความหมาย คือ วัสดุที่ใช้เป็นสื่อในการแสดงออกในงานศิลปะ และกรรมวิธีหรือวิธีการในการสร้างสรรค์[1]ดังนั้น ความหมายของคำว่า "MIXED MEDIA" ในงานศิลปนั้น คือ การใช้วัสดุหลากชนิดผสมกัน หรือการใช้กรรมวิธีหรือวิธีการในการสร้างสรรค์ในลักษณะผสม เช่น กรรมวิธีของจิตรกรรมผสมผสานกับกรรมวิธีทางประติมากรรม เป็นต้น




"สีสันแห่งความรัก" ประติมากรรมสื่อประสม ของ อาร์มัน ทำขึ้นในปี ค.ศ.1966




ผลงานอินสตอลเลชั่นสื่อประสม ของ โรเซนบัค ทำขึ้นในปี ค.ศ.1982
อันที่จริงแล้ว หากเราได้ศึกษาวิวัฒนาการของความคิด รูปแบบ และเทคนิควิธีการต่างๆ ในงานศิลปะนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน จะพบว่า "MIXED MEDIA" มิใช่เป็นของใหม่แต่ประการใด การใช้ "MIXED MEDIA" ในงานศิลปะนั้นมีมาช้านานแล้ว เพียงแต่ว่าผู้ผลิตผลงานหรือศิลปินในอดีตมิได้นำคำนี้มาใช้อย่างเป็นทางการเช่นปัจจุบัน ในงานศิลปะของพวกอนารยะชน (PRIMITIVE ART) เช่น การสร้างรูปบูชาไว้เป็นเครื่องลาง หรือสร้างไว้เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของคนเหล่านั้นมักจะใช้วัสดุต่างๆ เท่าที่อำนวยให้ เช่น เปลือกไม้ กระดูกสัตว์ เปลือกหอย หนังสัตว์ และวัสดุอื่นๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นรูปทรงในลักษณะสามมิติ นอกจากนี้ยังมีการนำกรรมวิธีทางจิตรกรรมมาผสมผสานกับกรรมวิธีทางประติมากรรมด้วย ดังจะเห็นได้จากหน้ากากสำหรับพิธีกรรมของชาวแอฟริกัน ซึ่งมีการระบายสี และหน้ากากของชาวอินคาในเปรู ซึ่งใช้ทั้งวัสดุผสมและกรรมวิธีผสม คือ การนำ ดินเผา เชือก วัสดุคล้ายผ้ากระสอบมาประกอบกันเป็นรูปทรงและมีการระบายสีลงบนหน้ากากเช่นกัน นอกจากศิลปะของอนารยะชนแล้ว ศิลปะของชาวอียิปต์ก็ยังมีการใช้
กรรมวิธีผสม คือ การระบายสีลงบนงานประติมากรรม ส่วนประติมากรรมของกรีกมีการใช้ งาช้าง ทอง หิน และวัสดุอื่นๆ ประกอบอีกด้วย หรือแม้แต่ศิลปะของไทยเราก็มีทั้งการใช้วัสดุผสมและกรรมวิธีผสม ดังจะเห็นได้จากการแกะสลักไม้ บนหน้าบัน หรือธรรมาสน์ ซึ่งมีการลงรัก ปิดทอง ล่องชาด หรือมีการประดับตกแต่งด้วยกระจกสีต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างของการใช้ "MIXED MEDIA" ที่เห็นได้ชัดอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ศิลปะยุคบาร็อก ระหว่างศตวรรษที่สิบเจ็ดและสิบแปด การตกแต่งประดับประดาสถาปัตยกรรมของยุคนั้น มีการใช้กรรมวิธีผสม คือ การนำงานประติมากรรมและงานจิตรกรรมมาประกอบไว้ด้วยกัน ซึ่งทำให้เกิดลักษณะการลวงตาขึ้น ผู้ที่ได้พบเห็นงานเหล่านั้นยากที่จะแยกได้ว่าส่วนไหน คือ งานจิตรกรรมและส่วนไหนคืองานประติมากรรม




"แก้วเหล้า" ผลงานสื่อประสมของ ปิคัสโซ ทำขึ้นในปี ค.ศ.1914




ผลงานโครงสร้างสื่อประสม (MIXED MEDIUM CONSTRUCTION)
ของ โรเบริต์ เราเชนเบอร์ก ทำขึ้นในปี ค.ศ.1954
ในศตวรรษที่ยี่สิบ การใช้วัสดุผสมปรากฏอยู่ในงานของศิลปินหลายท่าน อาทิ พาโบล ปิคัสโซ (PABLO PICASSO)ศิลปินชาวสเปน นำวัสดุเหลือใช้ เช่น เกรียงปาดสี มาประกอบกับรูปทรงประติมากรรมสามมิติและมีการระบายจุดสีลงบนรูปทรงประติมากรรมด้วย ส่วนศิลปินในกลุ่ม ดาด้า เช่น มาแซล ดูซองพ์ (MARCEL DUCHAMP) นำวัสดุเหลือใช (FOUND OBJECT) หรือวัสดุสำเร็จรูป (READYMADE OBJECT) เช่น วงล้อรถจักรยานมาตรึงอยู่กับส่วนบนของเก้าอี้นั่งทรงสูง เพื่อสื่อความหมายถึงการสูญสิ้นซึ่งอิสรภาพ อันเป็นความคิดที่เสียดสีประชดประชันการเมืองและสงครามคริสโต (CHRISTO) ศิลปินเชื้อชาติบัลแกเรียน นำผ้าใบมาชุบสีให้แลดูเก่าคร่ำคร่าแล้วนำมาห่อหุ้มขวด ซึ่งมีรูปทรงและขนาดแตกต่างกัน และใช้เชือกมัดโดยรอบขวดเหล่านั้น แล้วผูกเป็นปมอีกทีหนึ่ง ศิลปินผู้นี้ต้องการแปรสภาพของวัตถุที่เราคุ้นเคยให้เป็นวัตถุที่อยู่ในอีกสภาพหนึ่ง และมีความหมายแตกต่างไปจากเดิม ศิลปินร่วมสมัยบางท่านได้รับ
ความบันดาลใจในการใช้วัสดุผสมจากศิลปะของอนารยะชน แต่จุดมุ่งหมายในการแสดงออกอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ศิลปะของอนารยะชนเน้นในเรื่องของจิตวิญญาณและไสยศาสตร์ แต่ศิลปินร่วมสมัยอาจเน้นในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รูปแบบหรือโครงสร้างโดยส่วนรวมของงานทั้งสองยุคอาจใกล้เคียงกัน แต่การใช้วัสดุนั้นไม่เหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากงานประติมากรรมจากบาคองโก (BAKONGO) แถบคองโกตอนใต้ซึ่งเป็นรูปบูชา ประกอบด้วยวัสดุต่างๆ เช่น เหล็กแหลมคล้ายตาปู ไม้และวัสดุอื่นๆ และในงานประติมากรรมของพอล ฟาน ฮอยดองค์ (PAUL VAN HOEYDONCK) ศิลปินชาวเบลเยี่ยมซึ่งทำเป็นรูปทรงของมนุษย อวกาศ โดยใช้วัสดุต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเจริญทางเทคโนโลยีมาประกอบเข้าด้วยกัน  




ผลงานจิตรกรรมสื่อประสม (COMBINE PAINTING)
ของ โรเบริต์ เราเชนเบอร์ก ทำขึ้นในปี ค.ศ.1954
ความจริงแล้ว "MIXED MEDIA" มิได้มีความหมายอะไรที่พิสดารหรือลึกซึ้งนอกเหนือไปจากการระบุให้ทราบว่าในงานของศิลปินนั้นๆ ใช้วัสดุผสมหรือกรรมวิธีในการสร้างสรรค์ในลักษณะผสม ศิลปินบางท่านอาจจะไม่ใช้คำว่า"MIXED MEDIA" กับงานของเขา แต่จะระบุให้แน่นอนลงไปเลยทีเดียวว่า เขาใช้วัสดุ หรือกรรมวิธีอะไรบ้างศิลปินบางท่านยังใช้คำอื่นๆ ซึ่งมีความหมายในทำนองเดียวกันกับ "MIXED MEDIA" เช่น ASSORTED MATERIALS ,COMBINE MATERIALS , COMBINE PAINTING และศิลปินบางท่านก็ใช้ MIXED MEDIUMS บางครั้งศิลปินบางท่านใช้คำว่า MIXED MEDIA ENVIRONMENT เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาใช้วัสดุผสมหรือกรรมวิธีผสมต่างๆประกอบกันขึ้นเป็นรูปทรง และสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของบริเวณที่ติดตั้งผลงานให้มีความเป็นเอกภาพ เช่นผลงานของจอร์จ ซีก้าล (GEORGE SEGAL) เป็นต้น นอกเหนือจากการใช้ MIXED MEDIA ในการระบุประเภทของศิลปะแล้ว ในปัจจุบันมีศิลปินบางท่านใช้คำนี้บอกประเภทของเทคนิคในผลงานด้วย ส่วนคำที่นิยมใช้เป็นทางการเพื่อระบุลักษณะของประเภทศิลปะที่เป็นสื่อประสม หรือสาขาวิชาที่ใช้ในสถาบันศิลปะแทน MIXED MEDIA นั้นคือคำว่า "MULTI MEDIA" หรือ "INTERMEDIA" 




ประติมากรรม จาก คองโกตอนใต้ ศิลปะของอนารยะชน (PRIMITIVE ART)
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่ศิลปินร่วมสมัยในยุโรปและอเมริกาใช้คำว่า "MIXED MEDIA" ประกอบการอธิบายผลงานของเขา จะเห็นได้ว่าในงานนั้นๆ ไม่ว่าจะมีรูปแบบหรือกรรมวิธีเช่นไรก็ตาม มักจะนิยมการนำวัสดุเหลือใช้และวัสดุสำเร็จรูปมาประกอบกันขึ้นในงานของเขา ไม่ว่างานเหล่านั้น จะมีความเป็นสองมิติ ซึ่งเป็นลักษณะปิดปะ(COLLAGE) หรือการก่อรูปขึ้นเป็นแบบสามมิติ (ASSEMBLAGE) หรือการผสมผสานกันระหว่างสองมิติและสามมิติ งานศิลปะในลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้จากผลงานของ โรเบริต์ เราเซน- เบอร์ก (ROBERT RAUSCHENBERG) ที่มีความหลากหลายน่าสนใจ




"มนุษย์อวกาศ" ประติมากรรมสื่อประสมของ พอล ฟาน ฮอยดอง
ในงานศิลปะประเภทต่างๆสามารถมีลักษณะเป็นสื่อประสม เช่น งานจิตรกรรมสื่อประสม ซึ่งเรียกว่า MIXED MEDIA PAINTING งานประติมากรรมสื่อประสม เรียกว่า MIXED MEDIA SCULPTURE ภาพพิมพ์สื่อประสม เรียกว่า MIXED MEDIA PRINTS และในงานศิลปะประเภทอินสตอลเลชั่น (ศิลปะจัดวาง) ศิลปินจำนวนไม่น้อยใช้วัสดุและกรรมวิธีทางศิลปะ ผสมผสานกันเรียกว่า MIXED MEDIA INSTALLATION ศิลปะในแนวนี้มิได้เจาะจงเฉพาะผลงานที่ใช้เพียงวัสดุนานาชนิดผสมผสานกันเท่านั้น ในปัจจุบันมีการสร้างสรรค์ศิลปที่เป็นการข้ามศาสตร์ เช่น การนำผลงานทัศนศิลป์ผสมผสานกับดนตรี วรรณกรรม หรือการใช้ภาษาในลักษณะต่างๆ ด้วย ซึ่งในวงการศิลปะร่วมสมัยสากลจะใช้คำว่า MULTI MEDIA แทนคำว่า MIXED MEDIA ในกรณีนี้ ขอบเขตของงานศิลปที่นำมาผสมหรือประกอบด้วยกันนั้นรวมศิลปะประเภท MEDIA ART เช่น ดิจิทัล อาร์ต, วิดีโอ อาร์ต ภาพถ่าย และสื่อใหม่ (NEW MEDIA) ซึ่งเป็นไฮเทคในลักษณะต่างๆ




โบสถ์แห่ง ซากาดา ฟามิเลีย ผลงาน แอนโทนี่ กาวดี้ ที่เมือง บาเซโลนา
ในงานสถาปัตยกรรม ก็ยังมีการใช้วัสดุผสม เช่น ผลงานของ แอนโทนี่ กาวดี้ (ANTONI GAUDI) คือ โบสถ์ชื่อ CHURCH OF THE SAGADA FAMILIA ที่เมืองบาเซโลน่า ในประเทศสเปนและผลงานของ ไซมอน โรเดีย (SIMON RODIA) คือ WATTS TOWERS ในนครลอสแองเจลิส รูปทรงของสถาปัตยกรรมทั้งสองแห่งดังกล่าว โดยส่วนรวมมีลักษณะเหมือนคล้ายงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรมทั้งสองนั้นนอกจากจะให้คุณค่าทางด้านการแสดงออกซึ่งความคิดของสถาปนิกแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางด้านความงามอีกด้วยการกำหนดหรือตั้งกฎเกณฑ์ว่า งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ หรือศิลปะแขนงอื่นๆ จะต้องมีรูปแบบ หรือกรรมวิธีที่แน่นอนตายตัวเช่นในอดีตนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตราบใดที่ศิลปินยังมีการสร้างผลงานอย่างไม่หยุดยั้ง การคิดค้น รูปแบบการใช้สื่อ เทคนิคและกรรมวิธีที่แปลกใหม่นั้น ย่อมทำให้งานศิลปะมีการพัฒนาไปตามยุคสมัยและสภาพแวดล้อมที่เจริญก้าวหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้ศิลปะในรูปแบบของ MIXED MEDIA หรือสื่อประสม จึงเปิดโอกาสให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างมีอิสระไร้ขอบเขตจำกัด


[1] ความหมายใน THE AMERICAN HERITAGE DICTIONARY; MEDIA คือ A MEANS OF EXPRESSION AS DETERMINED BY THE MATERIALS OR CREATIVE METHODS INVOLVED และความหมายใน WEBSTER’S NEW WORLD DICTIONARY OF THE AMERICAN LANGUAGE; MEDIA คือ ANY MATERIAL USED FOR EXPRESSION OR DELINIATION IN ART


หมายเหตุ
บทความนี้คัดลอกมาจากสูจิบัตร การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53